มาทำความรู้จักกับ “ฮีทสโตรก” ภัยร้ายที่มาช่วงหน้าร้อน

ในช่วงเดือนเมษายนเป็นช่วงฤดูร้อนของประเทศไทย หลายพื้นที่มีอุณหภูมิทะลุสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส จนติด 1 ใน 15 ของเมืองที่ร้อนที่สุดในโลก อากาศที่ร้อนจัดทำให้เสี่ยงต่อโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก และคาดการณ์ว่าจะมีผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะอากาศร้อนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี

ทำความรู้จักโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก 

1. โรคลมแดด หรือฮีทสโตรก (Heatstroke) คืออะไร? 

ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะวิกฤตที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ หน้ามืด เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว หายใจเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ช็อก หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่สามารถระบายความร้อนออกได้มากกว่า 2 ชั่วโมง อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ ซึ่งหากได้รับการรักษาที่ล่าช้า ก็มีอันตรายถึงชีวิตได้ 

2. สัญญาณเตือนที่ต้องระวัง 

  • อุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
  • ผิวหนังแห้งและร้อน ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่มีเหงื่อออก
  • ความดันโลหิตลดลง
  • หัวใจเต้นเร็วมาก ใจสั่น ชีพจรเต้นเร็ว
  • กระหายน้ำมาก
  • วิงเวียน ปวดศีรษะ มึนงง หน้ามืด
  • คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย
  • อาจชักกระตุก เกร็ง และหมดสติไป

3. วิธีป้องกันตัวเองจากโรค

  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง หรือที่ที่มีอากาศร้อนจัด
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้
  • จิบน้ำบ่อยๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน 
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา รวมถึงกาแฟ และเครื่องดื่มน้ำตาลสูง
  • อย่าทิ้งเด็ก ผู้สูงอายุ หรือสัตว์เลี้ยงไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแจ้ง
  • ระวังไม่ให้ผู้ที่มีโรคประจำตัว อยู่ในที่อากาศร้อนและอยู่ตามลำพัง
  • ผู้ที่จะออกกำลังกาย ควรทำในที่ที่อากาศถ่ายเท ควรเลือกในช่วงเช้าหรือช่วงเย็น 
  • หากมีอาการที่บ่งบอกตามข้างต้น ให้รีบพบแพทย์โดยทันที

4. วิธีการปฐมพยาบาลผู้ป่วย

  • ย้ายคนป่วยไปอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเท เพื่อลดอุณหภูมิในร่างกายลง
  • ให้คนป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้าง เพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้น
  • คลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อระบายความร้อนได้ไวขึ้น
  • ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบ หน้าผาก เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด
  • หากยังมีสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

การที่ต้องอยู่ในสภาวะอากาศร้อนเป็นเวลานาน อาจส่งกระทบต่อร่างกายได้ ดังนั้น ควรหมั่นสังเกตอาการของตัวเอง ถ้ามีอาการของโรคเกิดขึ้น ให้รีบเข้ามาอยู่ในที่ร่ม และปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนนำตัวส่งโรงพยาบาล อย่าปล่อยให้อาการหนักเพราะอาจเสียชีวิตได้